บทความ

โลกของเราดำเนินอยู่ได้อย่างไร ? 
เด็กปฐมวัยไขคำตอบในวันนักวิทยาศาสตร์น้อย 2556


บทความจาก : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท)

สรุปบทความ
 ความเป็นมา
          เด็ก ๆ อนุบาลจากหลากโรงเรียน หลายจังหวัดในภาคใต้ รวมทั้งครูและผู้ปกครอง ต่างก็มารวมตัวกันที่หาดทรายแก้ว ณ โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ท จังหวัดสงขลา ในงาน“วันนักวิทยาศาสตร์น้อย 2556” ที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และองค์กรเครือข่ายต่างๆ
          สสวท. ได้เห็นความสำคัญของการปลูกฝังการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยได้ดำเนิน “โครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีปฐมวัย” ขึ้น ในรูปของกิจกรรมบูรณาการสหวิชา ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการสืบเสาะหาความรู้ การคิด และลงมือแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ตรงอย่างเหมาะสมกับวัย และเป็นไปตามหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย DSCN8613
          “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เป็นโครงการที่พัฒนากิจกรรมสำหรับเด็กระดับปฐมวัย ในด้านกระบวนการคิด สร้างพื้นฐานความพร้อมในการพัฒนาต่อยอดไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต
สรุปกิจกรรม 
          กิจกรรมนี้สอนให้เด็กสามารถหาความรู้ได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากเด็กๆ มีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรดิน น้ำ อากาศและพลังงาน กิจกรรมนี้จึงมุ่งหวังให้เด็กๆ ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมองเห็นประโยชน์ของทรัยาการเหล่านี้จากการทำกิจกรรม โดยกิจกรรมนี้มี 6 กิจกรรม ประกอบด้วย  
     1. กิจกรรมหวานเย็นชื่นใจ 
           เด็กๆ ค้นพบว่าโดยปกติน้ำและน้ำหวานเป็นของเหลว เมื่อนำไปแช่ในน้ำแข็งที่ใส่เกลือซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำและน้ำหวานมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนเปลี่ยนเป็นเกล็ดน้ำแข็ง
     2. ความลับของดิน
         เด็กๆ พิสูจน์ว่าดินมีองค์ประกอบเป็นหินที่ผุพังสลายตัว ซากพืชซากสัตว์ อากาศ และน้ำ ดังนั้น ส่วนที่เป็นของแข็งที่อยู่ในดินจึงมีขนาดแตกต่างกัน เมื่อเทน้ำลงไป อากาศก็จะออกมาจากดินเป็นฟองให้เห็น และจะพบว่าอนุภาคที่มีขนาดใหญ่จะตกตะกอนลงสู่ก้นภาชนะ และอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าก็จะค่อยๆ ตกลงมาเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก เมื่อการตกตะกอนสิ้นสุดลง จะมองเห็นดินเป็นชั้นๆ ส่วนซากพืชซากสัตว์ก็จะลอยอยู่บนผิวหน้าของน้ำ ทำให้เห็นองค์ประกอบของดินด้วย
     3. ถึงร้อนก็อร่อยได้ 
         ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานความร้อนและแสงสว่างของโลก พื้นผิวโลกที่มีลักษณะแตกต่างกันจะดูดกลืนพลังงานความร้อนไว้ได้ต่างกัน ซึ่งเด็กๆ จะพบจากการสัมผัสแผ่นกระเบื้องสีดำและสีขาว ที่วางไว้กลางแจ้ง เมื่อเด็ก ๆ ขึ้นไปเหยียบบนแผ่นกระเบื้องสีดำ จะรู้สึกร้อนกว่าเพราะสีดำดูดกลืนพลังงานความร้อนไว้มากกว่า จึงถ่ายโอนความร้อนมายังเท้าของเรามากกว่า โดยมนุษย์เราใช้ประโยชน์จากความร้อนมากมาย เช่น ทำอาหาร โดยพบว่าความร้อนทำให้ช็อกโกเลตและมาร์ชแมลโลหลอมยึดติดกับขนมปังกรอบ
     4. มหัศจรรย์กังหันลม 
       พลังงานจากลมเป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติซึ่งมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย กิจกรรมนี้จะช่วยให้เข้าใจว่าพลังงานจากลมทำให้กังหันหมุนได้ ซึ่งสามารถที่จะใช้พลังงานจากการหมุนต่อยอดไปทำประโยชน์อื่น เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า การฉุดระหัดวิดน้ำ การยกของ เป็นต้น
     5. ว่าวเล่นลม 
         อากาศมีแรงกระทำต่อวัตถุ จากสมบัติดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ในกิจกรรมที่รู้จักกันดีคือ การเล่นว่าว แรงกระทำของอากาศจะช่วยให้ว่าวลอยอยู่ในอากาศได้ และรูปร่างตลอดจนหางว่าวก็มีส่วนช่วยให้ว่าวสมดุลอยู่ในอากาศ
     6. โมบายเริงลม
           พลังงานจากลมช่วยให้สิ่งของต่างๆ เกิดการเคลื่อนที่ ในกิจกรรมนี้เมื่อเด็ก ๆ ทำโมบายที่สวยงามแล้ว นำไปแขวนในที่ที่มีลมพัด โมบายก็จะเคลื่อนที่และเกิดเสียงที่ไพเราะ นอกจากนี้ในการทำโมบายจะเข้าใจหลักการสมดุลของแรงด้วย

        กิจกรรมที่เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ทั้งหมดเน้นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เพื่อเริ่มต้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกเราอาศัยกิจกรรมที่นำไปสู่การค้นพบคำตอบเกี่ยวกับดิน น้ำ อากาศ (ลม) และไฟ (พลังงาน) จากการทดลองค้นคว้าง่ายๆ ตามศักยภาพของเด็ก โดยกระตุ้นการเรียนรู้จากการตั้งคำถามและร่วมกันค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
          และประโยชน์ที่ได้รับจากงานนี้คือ ประสบการณ์การเรียนรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ปฐมวัยในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ การได้เข้าใจโลกในมุมกว้าง ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการเป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น