หน้าเว็บ

Diary no.2

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 2
วันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 - 12.30


หลักการจัดประสบการณ์ทางวิทายาศาตร์
           จากการที่ได้แบ่งกลุ่มกันศึกษาหาความรู้ในแต่ละหัวข้อที่กลุ่มตนเองได้รับนั้น ทางกลุ่มเราได้หัวข้อในเรื่อง “หลักการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์” และได้ศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ ตำราต่างๆ ในหัวข้อนี้จนได้ความรู้ที่ตรงกับหัวข้อ “หลักการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์” อยู่ 4 เล่ม ดังนี้
     1. หนังสือ กิจกรรมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
     2. หนังสือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
     3. หนังสือ กรอบมาตรฐานและคู่มือการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย
     4. หนังสือ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
           โดยเนื้อหาในแต่ละเล่มก็จะมีการอธิบายถึง “หลักการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์” ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. หนังสือกิจกรรมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน

        เยาวพา เดชะคุปต์. (2528) การสร้างประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กในระดับอนุบาล (หน้า 83-84)
          เฮลฟิช (Helfich อ้างอิงจาก National Science Teachers Association. 1966 : 15-16) กล่าวถึงการสร้างประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ว่าควรเป็นการสอนเพื่อให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผล ไม่ใช่จากการท่องจำ และควรให้เด็กเกิดความคิดรวบยอด และสามารถหาข้อสรุปจากประสบการณ์ที่ประสบด้วยตนเอง
ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ได้แก่
     1. การให้คำจำกัดความหรือความหมายที่ถูกต้อง
          การให้เด็กเรียนรู้ความหมายสิ่งต่างๆ จากคำจำกัดความที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ คำศัทพ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น และจะเป็นพื้นฐานที่เด็กสามารถนำสิ่งที่เขาเรียนรู้ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
     2. การสร้างความคิดรวบยอด
      ครูควรช่วยให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากการสร้างประสบการณ์เพื่อให้เด็กสังเกต ทดลอง ค้นคว้า สาธิต เกี่ยวกับฤดูกาล อากาศ ผลของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่มีต่อชีวิตมนุษย์ การปลูกพืช แม่เหล็ก และการทำงานของแม่เหล็ก เพื่อให้เด็กหาข้อสรุปได้ด้วยตนเอง
     3. จัดประสบการณ์หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ด้าน
          ครูไม่ควรจำกัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ในหลายๆด้าน เช่น ดาราศาสตร์ พลังงาน แม่เหล็ก ไฟฟ้า พืชและสัตว์ นิเวศน์วิทยา ซึ่งควรจัดตามความสนใจเด็ก โดยใช้วัสดุอุปกรณ์หลายๆอย่าง ได้แก่ หนังสือ ภาพประกอบ ภาพยนตร์ และวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั้งที่เป็นของจริง เช่นปรากฏการณ์ธรรมชาติ การเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ และจากภาพหรือเครื่องมือต่างๆ การจัดประสบการณ์ก็ควรกระตุ้นให้เด็กสนใจ ตื่นตัว อยากค้นคว้าทดลองและควรให้เด็กได้มีโอกาสใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ในการเรียนรู้เท่าๆกับการอภิปราย หรือการสนทนา เช่น การชิมรส ดมกลิ่น ปิดตาคลำผลไม้
     4. แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล
      การสอนวิทยาศาสตร์ในระดับเด็กเล็กไม่ควรสอนให้ทราบแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจ ควรจัดประสบการณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะหลายๆ ด้าน ให้เหมาะกับระดับอายุของเด็ก โดยให้เด็กได้พัฒนาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล พัฒนาทักษะในการคิดและเข้าใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พร้อมกันไปด้วย
ในการจัดประสบการณ์ดังกล่าวครูควรวางแผนและจัดกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
         1. อธิบาย อภิปราย สนับสนุนให้เด็กและเปลี่ยนความคิดเห็นและนำสิ่งต่างๆมาโรงเรียนมาใช้เป็นหัวข้อในการสนทนา เพื่อให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว เช่น ถ้าเด็กสวมเสื้อหนาวมาโรงเรียนก็ใช้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้น เรียนรู้เกี่ยวกับอากาศ เป็นต้น
       2. จัดมุมวิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์ มุมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเล็กควรมีสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เช่น เลี้ยงสัตว์ สะสมวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกหอย เมล็ดพืช ใบไม้ ก้อนหิน รวมทั้งมีหนังสือที่เด็กจะดูภาพประกอบ มีแว่นขยาย อุปกรณ์ทำสวนปลูกผักวางเอาไว้ด้วย
2. หนังสือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

         
             กุลยา ตันติผลาชีวะ. (2551) กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (หน้า 166)
           เด็กเป็นนักค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้โดยธรรมชาติ การหยิบจับ สัมผัส และการสังเกต เป็นวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็ก คล้ายกับการเรียนเหตุผลทางคณิตศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบ การจำแนก การหาความสัมพันธ์ของวัตถุ การเรียนวิทยาศาสตร์และการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยจึงพัฒนาควบคู่กันมา แต่การเรียนวิทยาศาสตร์จะเน้นการเรียนทักษะวิทยาศาสตร์และธรรมชาติรอบตัว ได้แก่ เรื่อง พืช สัตว์ เวลา ฤดูกาล น้ำ และอากาศร่วมด้วย
            วิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการสังเกต การคิด การสะท้อนการกระทำและเหตุการณ์ เด็กใช้การคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างกรอบความสัมพันธ์ของสาระสนเทศให้เป็นระเบียบ มีความหมายและให้มโนทัศน์ที่มีประโยชน์ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่การเรียนข้อเท็จจริงหรือการจำสูตร แต่วิทยาศาสตร์เป็นเจตคติแห่งความกระตือรือร้น ความสนใจ และการแก้ปัญหา (Brewer, 1995 : 285) เด็กปฐมวัยต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาและธรรมชาติรอบตัว ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์เพื่อสร้างการเป็นนักคิดค้นหาความรู้อย่างมีกระบวนการ
3. หนังสือ กรอบมาตรฐานและคู่มือการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย

          สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2554) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย (หน้า 30-31)
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ควรส่งเสริมด้านต่างๆ ดังนี้
     1. สนับสนุนและส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก
     2. สนับสนุนและส่งเสริมความต้องการในการตั้งคำถาม
     3. ส่งเสริมการใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ สำรวจตรวจสอบ จำแนกสิ่งต่างๆ
     4. ส่งเสริมกระบวนการคิดรวบยอด การคิดแก้ปัญหา และการคิดสร้างสรรค์
     5. ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์
     6. ส่งเสริมความสนใจในการดูแลและรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว
     7. เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความรู้สึกชื่นชมยินดีในธรรมชาติ
         การจัดประสบการณ์เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากการจัดกิจกรรมประจำวัน แต่ควรบูรณาการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมประจำวันปฐมวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นสำคัญ และควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในประเด็นต่อไปนี้
     1. เราต้องการจะค้นหาอะไร
     2. เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อการค้นหานี้
     3. เราเห็นอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     4. สิ่งต่างๆ เหล่านี้บอกอะไรแก่เรา
        การจัดประสบการณ์เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ควรจัดให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ โดยการเปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งประกอบไปด้วย ลักษณะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
      1. การมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ
     2. การทำการสำรวจตรวจสอบ เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสังเกต สำรวจ สืบค้นหรือทดลอง และบันทึกผลการสำรวจตรวจสอบด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัย
     3. การตอบคำถามที่ตั้งขึ้นโดยใช้ผลการสำรวจตรวจสอบมาสร้างคำอธิบายที่มีเหตุผล
     4. การนำเสนอผลการสำรวจตรวจสอบให้กับผู้อื่นด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัยและความสามารถ
4. หนังสือ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546

           
             กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2546) การจัดประสบการณ์ (หน้า 50)
           การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย 3-5 ปี จะไม่จัดเป็นรายวิชา แต่จัดในรูปของกิจกรรม บูรณาการผ่านการเล่น เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เกิดการเรียนรู้ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา กิจกรรมที่จัดให้เด็กในแต่ละวันอาจใช้ชื่อเรียกกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละหน่วยงาน แต่ทั้งนี้ประสบการณ์ที่จัดจะต้องครอบคลุมประสบการณ์สำคัญที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และควรยืดหยุ่นให้มีสาระที่ควรเรียนรู้ที่เด็กสนใจและสาระที่ควรเรียนรู้ที่ผู้สอนกำหนด เมื่อเด็กได้รับประสบการณ์สำคัญและทำกิจกรรมในแต่ละหัวเรื่องแล้ว เด็กควรจะเกิดแนวคิดตามที่ได้เสนอแนะในหลักสูตร
หลักการจัดประสบการณ์ (หน้า 51)
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดหลักการจัดประสบการณ์ไว้ ดังนี้
     1. จัดประสบการณ์การเล่นและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กโดยองค์รวมอย่างต่อเนื่อง
     2. เน้นเด็กเป็นสำคัญ สนองความต้องการ ความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคล และบริบทของสังคมที่เด็กอาศัยอยู่
     3. จัดให้เด็กได้รับการพัฒนาโดยให้ความสำคัญทั้งกับกระบวนการและผลผลิต
     4. จัดการประเมินพัฒนาการให้เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์
     5. ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
สรุปความคิดตามหัวข้อที่ศึกษา หลักการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์
           หลักการจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง การสร้างประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดในรูปของกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็กผ่านทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การหยิบจับ สัมผัส สังเกต ทดลอง สำรวจ ฯลฯ จากธรรมชาติรอบตัวเด็ก เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการสอนเด็กให้เข้าใจถึงเหตุและผล
การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
     1. สร้างความอยากรู้อยากเห็น
     2. ตั้งคำถาม
     3. สัมผัส ตรวจสอบ จำแนกสิ่งต่างๆ
     4. ฝึกการคิดรวบยอด
     5. ฝึกการแก้ปัญหาและการคิดต่อยอดอย่างสร้างสรรค์
     6. ส่งเสริมจินตนาการ
     7. ให้เด็กได้แสดงความรู้สึกต่อธรรมชาติและสิ่งต่างๆ รอบตัว
ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ได้แก่
     1. การให้คำจำกัดความหรือความหมายที่ถูกต้อง
     2. การสร้างความคิดรวบยอด
     3. จัดประสบการณ์หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ด้าน
     4. แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล
         โดยขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จะนำไปสู่การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนความคิด เกมการศึกษา ศิลปะสร้างสรรค์ การทดลองอย่างง่าย เสรีตามมุมวิทยาศาสตร์ ฯลฯ และในกิจกรรมที่เด็กทำนั้นครูจะต้องให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการบวนการเรียนรู้ 4 แบบ คือ
     1. ตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์แบบง่าย
     2. การสำรวจ บันทึกผล
     3. ตอบคำถามที่ตั้งขึ้น
     4. นำเสนอผลการสำรวจ
        ทั้งนี้ การจัดประการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก เนื้อหาจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่เด็กความสนใจ สอดคล้องกับธรรมชาติ เหมาะสมตามวัย และเป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก

 บรรณานุกรม
เยาวพา เดชะคุปต์. กิจกรรมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2528
กุลยา ตันติผลาชีวะ. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ : เบรน-เบส บุ๊คส์, 2551
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กรอบมาตรฐานและคู่มือการจัดการเรียนรู้
         วิทยาศาสตร์ปฐมวัย. กรุงเทพฯ : ศรีเมืองการพิมพ์, 2554
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546. พิมพ์ครั้งที่ 1     
         กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว, 2546.

การนำไปประยุกต์ใช้
          การหาข้อมูลในครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักกับความอดทนในการได้มาซึ่งความรู้ เพราะต้องหาจากในหนังสือเท่านั้น ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ที่จะไม่ยึดความรู้แบบตายตัวในตำรา แต่เป็นการกลั่นกรองให้ได้มาซึ่งความรู้แบบองค์ความรู้ใหม่ และสิ่งนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่นักศึกษาควรจะต้องมีสำหรับการเรียนในยุคเทคโนโลยี
         
การประเมิน
ตนเอง : เข้าเรียนสาย แต่ก็ตั้งใจฟังอาจารย์
เพื่อน : กระตือรือร้นในการมาเรียน และตั้งใจฟังอาจารย์
อาจารย์ : แม้ไฟในตึกจะดับ ห้องใช้ไม่ได้ แต่อาจารย์ก็ได้ให้นักศึกษาใช้เวลาที่เหลือให้เป็นประโยชน์โดยการไปค้นคว้าในห้องสมุด เพื่อให้ได้ความรู้และนำมากลั่นกรองเป็นความรู้ของเราเอง


Vocabulary

Early Childhood                     เด็กปฐมวัย
Experience management         การจัดประสบการณ์     
Psychology                            จิตวิทยา 
Pre-school child                     เด็กก่อนวัยเรียน
Curriculum                            หลักสูตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น